ความหมาย

ความหมายตามทัศนะเดิมหลักสูตรมาจากคำในภาษาอังกฤษว่า Curriculum ซึ่งมาจากคำในภาษาละตินว่า Currere แปลว่า “ทางวิ่ง” หรือ “ลู่ที่นักวิ่งวิ่งเข้าสู่เส้นชัย” (R.C. Das, et, NCERT, 1984, p. 4)
ในวงการศึกษาเมื่อมีการนำหลักสูตรมาใช้ก็ตีความหมายโดยอาศัยรากศัพท์เดิม และมีการกำหนดนิยามของหลักการของหลักสูตรขึ้นอย่างง่าย ๆ โดยถือหลักว่า สิ่งใดก็ตามที่ต้องการให้สอนให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ สิ่งนั้นคือหลักสูตร ถ้านำเอาสิ่งที่ผู้ใหญ่ในยุคโบราณสอนบุตรหลานของตนมาพิจารณาในเชิงหลักสูตร ก็อาจกล่าวได้ว่า วิชาตกปลา ล่าสัตว์ ปลูกผัก คือหลักสูตรในยุคนั้น ต่อมาเมื่อโลกเจริญขึ้นมีกิจกรรมหลายอย่างที่ต้องทำเพื่อการดำรงชีวิตเพิ่มขึ้น วิชาที่ต้องจัดสอนก็เพิ่มตามขึ้นมา แต่การที่จะสอนวิชาทุก ๆ วิชาที่มีอยู่ย่อมเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นในการกำหนดหลักสูตร ผู้สอนจะเลือกเฉพาะวิชาที่เห็นว่าจำเป็นและมีประโยชน์มารวมไว้ในหลักสูตรและด้วยเหตุนี้จึงได้มีการกำหนดนิยามของหลักสูตรว่า


“หลักสูตร หมายถึง รายวิชาหรือเนื้อหาที่กำหนดไว้ให้ผู้เรียนได้เรียน” นี่เป็นความหมายตามทัศนะเดิม
นิยามดังกล่าวนี้บางประเทศยังคงยึดถืออยู่ และได้ใช้เป็นหลักในการจัดทำหรือพัฒนาหลักสูตร โดยกำหนดรายวิชาต่าง ๆ ขึ้นให้ผู้เรียนได้เรียน หลักสูตรของชั้นใดก็หมายถึงรายวิชาที่จัดสอนในชั้นนั้น การตีความหมายของหลักสูตรในลักษณะดังกล่าว มีสาเหตุมาจากความเข้าใจขณะนั้นว่า การศึกษาคือการเรียนหนังสือ ความรู้ที่ผู้เรียนได้รับก็คือความรู้ที่ได้จากหนังสือต่าง ๆ ที่ครูหรือผู้สอนกำหนดให้เรียน ดังนั้น เมื่อพูดถึงหลักสูตรจึงหมายถึงรายวิชาต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ รายวิชาต่าง ๆ เหล่านี้ถึงแม้ว่าจะแตกต่างกันตามสถานที่เรียนและตามกาลสมัย แต่ก็ไม่ทำให้รูปลักษณะของหลักสูตรเปลี่ยนไปแต่อย่างใด
ในแง่จิตวิทยา สิ่งที่ทำให้มีการตีความหมายของหลักสูตรเป็นรายวิชาก็คือ ระยะนั้นมีความเข้าใจกันว่า ความรู้เป็นสิ่งที่ถ่ายเทให้แก่กันและกันได้ทำนองการเทน้ำใส่ภาชนะ สมองของผู้เรียนเปรียบเสมือนภาชนะสำหรับรองรับความรู้ เมื่อได้รับความรู้ไปแล้วผู้เรียนก็สามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้ ทั้งสิ่งที่จำเป็นในชีวิตประจำวันและสิ่งที่ต้องพิจารณาแก้ปัญหาด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้เนื้อหาสาระของวิชาที่จะบรรจุเข้าไว้ในสมองของผู้เรียน จึงสำคัญกว่าสิ่งอื่นใดทั้งหมด การยอมรับความสำคัญของเนื้อวิชาก็เท่ากับยอมรับว่าหลักสูตรคือรายการวิชาต่าง ๆ ที่มีเนื้อวิชาอยู่ตามที่กำหนดไว้…


ความหมายตามทัศนะใหม่
…นักการศึกษาในปัจจุบันต่างตระหนักดีว่า การที่ผู้เรียนจะเรียนรู้อะไรนั้น เป็นผลจากที่ผู้เรียนได้มีประสบการณ์ในสิ่งที่ต้องการเรียนรู้ด้วยตนเอง หน้าที่ของครูหรือผู้สอนอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไร หรือจะจัดประสบการณ์อะไรและอย่างไรให้แก่ผู้เรียน เพื่อให้ได้เรียนรู้ละมีพัฒนาการตามที่ได้กำหนดไว้ ข้อความที่กล่าวมานี้แสดงว่าหัวใจสำคัญของการเรียนการสอนก็คือ “ประสบการณ์” ที่ผู้เรียนจะได้รับ ดังนั้นเมื่อพูดถึงหลักสูตร นักการศึกษาหลายท่านจึงตีความหมายโดยยึดเอาประสบการณ์เป็นหลักและกล่าวว่า “หลักสูตร คือ ประสบการณ์ที่จัดให้ผู้เรียน เพื่อให้มีพัฒนาการตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้”…
…เมื่อพิจารณาดูสาระสำคัญของหลักสูตร จะเห็นว่ามีการกล่าวถึงประสบการณ์น้อยมากสิ่งที่ปรากฏชัดอยู่ก็คือ เนื้อหาของผู้เรียนที่ต้องเรียนรู้และกิจกรรมที่ควรจัดให้ผู้เรียนกระทำ โปรดเข้าใจด้วยว่า “กิจกรรม” นั้นมีความหมายแตกต่างจาก “ประสบการณ์” การที่ผู้เรียนกระทำกิจกรรมอย่างใด มิได้หมายความว่าผู้เรียนมีประสบการณ์อย่างนั้น เช่น เมื่อผู้เรียนอ่านหนังสือ กิจกรรมก็คือการอ่าน อันได้แก่การมองดูตัวหนังสือและอ่านตัวหนังสือนั้นดัง ๆ หรืออ่านในใจ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตกลงใจว่าจะอ่านอย่างไร กิจกรรมจึงเป็นเพียงการกระทำทางกายเท่านั้น ส่วนประสบการณ์หมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้นภายในตัวบุคคล อันเป็นผลเนื่องจากการกระทำ อย่างในเรื่องของการอ่านก็คือ ความรู้ ความเข้าใจ ความรู้สึกนึกคิดและเจตคติที่มีต่อข้อความหรือแนวความคิดที่มีอยู่ในหนังสือนั้น
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าหลักสูตรหรือเอกสารหลักสูตรจะไม่ได้กล่าวถึงประสบการณ์โดยตรงแต่ก็แสดงให้เห็นแนวทางอันจะนำไปสู่การที่จะให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ต่าง ๆ ตามที่ต้องการ ดังนั้นถ้าจะกำหนดนิยามของหลักสูตรในรูปของประสบการณ์ ก็ต้องมองให้ลึกลงจนถึงขั้นปฏิบัติ…
เพื่อแก้ปัญหาความสับสนจากการที่ควรยึดเอกสารหลักสูตรหรือประสบการณ์อันอยู่เบื้องหลังเป็นหลักในการกำหนดนิยาม…การกำหนดนิยามของหลักสูตร จึงควรมุ่งที่แผนในการจัดประสบการณ์หรือมวลประสบการณ์ ด้วยเหตุนี้ นักการศึกษาบางท่านจึงนำเอาคำว่า “แผน” หรือ “ข้อกำหนด” มาใช้ในการตีความหมายของหลักสูตร ดังนี้
“หลักสูตร คือ แผนหรือแนวทางการจัดการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบโรงเรียนที่ชี้แนะให้ผู้บริหารการศึกษา ครู อาจารย์ ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาได้จัดประสบการณ์ทั้งมวล ตามที่หลักสูตรกำหนด เพื่อให้เยาวชนหรือพลเมืองของประเทศได้พัฒนาตนเอง ทั้งในด้านความรู้ ทักษะ และคุณสมบัติอันพึงประสงค์ ตามความมุ่งหมายของการจัดการศึกษาของชาติ” (สวัสดิ์ ประทุมราช และคณะ 2521 หน้า 1)
“หลักสูตร คือ โครงการ การจัดการศึกษา เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ความสามารถ และคุณลักษณะที่สอดคล้องกับความมุ่งหมายของการศึกษาตามที่กำหนดไว้” (สุมิตร คุณากร, 2518 หน้า 2)
“หลักสูตร คือ ข้อกำหนดว่าด้วยจุดหมาย แนวทาง วิธ๊การและเนื้อหาสาระ ในการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ ความสามารถ ทัศนคติและพฤติกรรมตามที่กำหนดในจุดมุ่งหมายของการศึกษา” (กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ 2521 หน้า 1)
“หลักสูตร คือ แผนซึ่งประกอบด้วยจุดมุ่งหมายของการศึกษา ประสบการณ์และการเรียนรู้ซึ่งจัดในลักษณะที่ง่ายแก่การประเมินผล” (Scharfarzick and Hampson, eds., 1975, p. 1)
จากนิยามต่าง ๆ ข้างต้นนี้ ผู้เขียนมีความเห็นว่า เพื่อให้การกำหนดความหมายของหลักสูตรมีความสมบูรณ์ และเป็นที่เข้าใจง่ายแก่ทุกฝ่าย ไม่ว่าผู้บริหาร นักพัฒนาหลักสูตร ศึกษานิเทศก์และครูผู้มีหน้าที่ใช้หลักสูตร ควรกำหนดนิยามของหลักสูตรดังต่อไปนี้


“หลักสูตร คือ แผนซึ่งได้ออกแบบจัดทำขึ้นเพื่อแสดงถึงจุดหมาย การจัดเนื้อหากิจกรรมและมวลประสบการณ์ ในแต่ละโปรแกรมการศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนมีพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ตามจุดหมายที่ได้กำหนดไว้”ธำรง บัวศรี. (2542). ทฤษฎีหลักสูตรการออกแบบและพัฒนา. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร: พัฒนาศึกษา.