สรุป อภิปรายและข้อเสนอแนะ

จากการศึกษาหลักสูตรของโรงเรียนบ้านเจาะเกาะ ปรากฏว่าโรงเรียนบ้านเจาะเกาะมีกระบวนการใช้หลักสูตรที่สอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพ้นฐาน พุทธศักราช 2551 กล่าวคือ เอกสารหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 จัดทำขึ้นสำหรับท้องถิ่นและสถานศึกษาได้นำไปใช้เป็นกรอบและทิศทางในการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา และจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยทุกคนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานให้มีคุณภาพด้านความรู้ และทักษะที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลง และแสวงหาความรู้เพื่อพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
มาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ช่วยทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกระดับเห็นผลคาดหวังที่ต้องการในการพัฒนาการเรียนรู้ที่ชัดเจนตลอดแนว ซึ่งจะสามารถช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับท้องถิ่นและสถานศึกษาร่วมกันพัฒนาหลักสูตรได้อย่างมั่นใจ ทำให้การจัดทำหลักสูตรในระดับสถานศึกษามีคุณภาพและมีเอกภาพยางขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้เกิดความชัดเจนเรื่องการวัดและประเมินการเรียนรู้ และช่วยแก้ปัญหาการเทียบโอนระหว่างสถานศึกษา ดังนั้นในการพัฒนาหลักสูตรทุกระดับตั้งแต่ระดับชาติจนกระทั่งถึงสถานศึกษา จะต้องสะท้อนคุณภาพตามมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมทั้งเป็นกรอบทิศทางในการจัดการศึกษาทุกรูปแบบ และครอบคลุมผู้เรียนทุกกลุ่มทุกเป้าหมายในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
การจัดการหลักสูตรการศึกษาขั้นฐานจะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่คาดหวังได้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งระดับชาติ ชุมชน ครอบครัว และบุคคลต้องร่วมรับผิดชอบ โดยร่วมกันทำงานอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ในการวางแผน ดำเนินการ ส่งเสริมสนับสนุน ตรวจสอบ ตลอดจนปรับปรุงแก้ไข พ่อพัฒนาเยาวชนของชาติไปสู่คุณภาพตามมาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนดไว้

กระบวนการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียนบ้านเจาะเกาะ
1. วิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานโดยสอบถามผู้ที่มีความเกี่ยวข้องในการใช้หลักสูตรได้แก่ ครู ผู้บริหาร ผู้ปกครอง นักเรียน
2. กำหนดจุดมุ่งหมายของหลักสูตร โรงเรียนบ้านเจาะเกาะได้กำหนดจุดมุ่งหมายไว้ในวิสัยทัศน์ของหลักสูตรว่า ในปีการศึกษา 2555 มีคุณธรรม นำความรู้ อยู่อย่างพอเพียงตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ก้าวไกลทันเทคโนโลยี มีสุขถ้วนหน้า ชุมชนศรัทธา พัฒนาตนเองตามศักยภาพ สู่ความเป็นพลเมืองไทยและเป็นพลโลก ยึดมั่นในการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริทรงเป็นประมุข
3. กำหนดเนื้อหาประสบการณ์การเรียนรู้ โดยให้ครูได้ทำโครงสร้างรายวิชา
4. กำหนดหน่วยการเรียนรู้ต่างๆ
5. การนำหลักสูตรไปใช้และมีการประเมินผลการใช้หลักสูตรโดยฝ่ายบริหารประเมินโดยการนิเทศห้องเรียน การปรึกษาหารือการประชุมย่อย การประชุมฝ่ายวิชาการเพื่อจะถามว่าหลักสูตรมีความบกพร่องในด้านใดบ้าง กล่าวคือ ในส่วนเอกสารหลักสูตรว่ามีความบกพร่องตรงไหน การนำเอกสารไปใช้สู่ห้องเรียนเป็นอย่างไรและมีอุปสรรคอย่างไร
6. มีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรเพื่อให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
การพัฒนาหลักสูตรเป็นสิ่งที่สามารถดำเนินการได้เสมอทุกระยะเวลา การพัฒนาหลักสูตรที่ดีควรจะได้เริ่มต้นเมื่อหลักสูตรนั้นได้ใช้ไปแล้วไม่ควรเกิน 1 ปี เพราะหลักสูตรที่ดีจะเป็นหลักสูตรที่กำหนดให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้เนื้อหาสาระและกระบวนการที่มองไปข้างหน้าอย่างน้อย 5 ปี และไม่ควรเกิน 10 ปีเป็นอันขาด ดังนั้นเมื่อใช้หลักสูตรเป็นเวลา 1 ปีแล้ว ผู้พัฒนาหลักสูตรจะต้องเริ่มการประเมินผลหลักสูตรการใช้หลักสูตรทันทีและจะต้องเริ่มรวบรวมข้อมูลพื้นฐานในทุกด้านไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจสังคม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะต้องนำมาเป็นข้อมูลเพื่อการพัฒนาหลักสูตรต่อไป การเริ่มพัฒนาหลักสูตรจะต้องเริ่มตั้งแต่ปีที่ 3 ของการนำหลักสูตรนั้นมาใช้ และควรจะพัฒนาแล้วเสร็จภายในปีที่ 5 ซึ่งนั่นก็หมายความว่าเป็นปีที่ได้กำหนดเป้าหมายอายุของหลักสูตรที่สามารถเพิ่มพูนความรู้ ทักษะและประสบการณ์ให้กับผู้เรียนแล้ว (ชูศรี สุวรรณโชติ. 2544 : 99-100 )
หลักสูตรสถานศึกษาต้องครอบคลุมภาระงานการจัดการศึกษาทุกด้านหลักสูตรสถานศึกษาจึงประกอบด้วยการเรียนรู้ทั้งมวลเป็นประสบการณ์อื่น ๆ ที่สถานศึกษาแต่ละแห่งวางแผนเพื่อพัฒนาผู้เรียนซึ่งเกิดจากการมีส่วนร่วมของบุคลากรและผู้เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา
หลักสูตรสถานศึกษา เป็นแบบแผนหรือแนวทางหรือข้อกำหนดของการจัดการ ที่จะพัฒนาให้ผู้เรียนมีความรู้ ความสามารถโดยส่งเสริมให้แต่ละบุคคลพัฒนาไปสู่ศักยภาพสูงสุดของตนรวมถึงระดับขั้นของมวลประสบการณ์ที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้สะสมซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนนำความรู้ไปสู่การปฏิบัติได้ประสบการณ์สำเร็จในการเรียนรู้ด้วยตนเอง รู้จักตนเอง มีชีวิตอยู่ในโรงเรียน ชุมชน สังคม และโลกอย่างมีความสุข

ลำดับขั้นตอนของการพัฒนาหลักสูตร
ขั้นตอนของการพัฒนาหลักสูตรถือว่ามีความสำคัญอย่างหนึ่งในการพัฒนาหลักสูตร ส่วนใหญ่ผู้พัฒนาหลักสูตรทั้งหลายไม่ได้ให้ความเอาใจใส่ในเรื่องนี้มากนัก ผลที่ปรากฏก็คือความยุ่งยากในการพัฒนาหลักสูตรให้สมบูรณ์ และความยุ่งยากนี้ก็ต่อเมื่อมาถึงการใช้หลักสูตรในภายหลังด้วย ลำดับขั้นตอนในการพัฒนาหลักสูตรมีดังนี้
ขั้นที่ 1 ศึกษาข้อมูลพื้นฐานของสังคมและชุมชนที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
ขั้นที่ 2 วิเคราะห์ข้อมูลที่มีความจำเป็นอันจะนำมาซึ่งการปรับปรุงหลักสูตร
ขั้นที่ 3 สำรวจความต้องการและความจำเป็นของสังคม ชุมชน และผู้เรียน
ขั้นที่ 4 กำหนดวัตถุประสงค์ของการให้การศึกษาให้ตรงกับความต้องการของสังคม
ขั้นที่ 5 เลือกเนื้อหาวิชาที่ต้องการนำมาให้ผู้เรียนได้ศึกษาที่ตรงกับวัตถุประสงค์
ขั้นที่ 6 เลือกบุคลากรที่มีความชำนาญในเนื้อหาวิชานั้นๆมาร่วมจัดทำหลักสูตร
ขั้นที่ 7 จัดเรียงลำดับเนื้อหาความรู้ที่ได้มาจากขั้นที่ 6
ขั้นที่ 8 สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ให้ตรงกับเนื้อหาวิชาเพื่อการจัดการเรียน
การสอน
ขั้นที่ 9 กำหนดการประเมินผลให้ตรงกับวัตถุประสงค์ที่ศึกษา

ข้อเสนอแนะในการประเมินหลักสูตร
1. การประเมินหลักสูตรควรกระทำต่อเนื่องกันไปตลอดเวลา และใช้ข้อมูลที่ได้จากการประเมินหลักสูตร มาปรับปรุงหลักสูตรให้ดีขึ้น
2. ประเมินให้ครอบคลุมทุกองค์ประกอบในกระบวนการพิจารณาหลักสูตร
3. ในการประเมินด้านผลผลิต (Outcome) ควรให้ครอบคลุมทั้งด้านพุทธิพิสัย จิตพิสัย และทักษะพิสัย
4. ในการใช้หลักสูตรควรกำหนดให้แน่นอน ว่าจะประเมินผลการใช้หลักสูตรในระยะนานเท่าใด เช่น ทุกๆ 3 ปี หรือทุกๆ 5 ปี เป็นต้น
5. การประเมินจะต้องอาศัยเครื่องมือที่เหมาะสม และแหล่งข้อมูลที่เหมาะสม
นอกจากนี้แล้ว หลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียนบ้านเจาะเกาะยังมีความสอดคล้องกับแนวคิดของไทเลอร์ ไทเลอร์ให้ความสำคัญต่อการกำหนดจุดมุ่งหมายของหลักสูตร ซึ่งจะเป็นหลักในการเลือกและจัดประสบการณ์การเรียนรู้และประเมินผล ทาบาให้ความสำคัญต่อการคัดเลือกและการจัดเนื้อหาสาระและประสบการณ์ และเชื่อว่าผู้สอนซึ่งเป็นผู้ใช้หลักสูตรควรมีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตร
จากรูปแบบการพัฒนาหลักสูตรและการสอนของไทเลอร์ เมื่อได้ศึกษาวิเคราะห์แล้วจะพบว่า การพัฒนาหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการมีส่วนคล้ายกับวิธีการของไทเลอร์มาก เช่น การกำหนดจุดประสงค์ของหลักสูตร ไทเลอร์ได้ใช้สังคมปัจจุบันเป็นพื้นฐานและการจัดการศึกษาของเราในปัจจุบันนี้ได้ทำการศึกษาวิเคราะห์สังคมจนสรุปออกมาเป็นแนวคิดในการจัดการศึกษาว่าเป็น การศึกษาเพื่อพัฒนาตนและทำประโยชน์ให้กับสังคม แนวคิดของไทเลอร์ได้สนับสนุนให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตร และกระบวนการเรียนการสอน และนอกจากนี้การพัฒนาหลักสูตรจะต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมภายนอกที่สัมพันธ์กับการเรียนรู้ของผู้เรียนอีกด้วย
อย่างไรก็ตามหลักสูตรสถานศึกษาของแต่ละโรงเรียนจะมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ ด้าน เช่น บริบทของชุมชน ปัญหาที่พบของแต่ละโรงเรียน ความต้องการของผู้เรียน ตลอดจนความต้องการของชุมชน แต่สิ่งที่คล้ายกันคือ หลักสูตรสถานศึกษาที่จัดทำขึ้นของแต่ละโรงเรียนส่วนใหญ่แล้วจะยึดหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 เป็นเกณฑ์ เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยทุกคนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานให้มีคุณภาพด้านความรู้ และทักษะที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลง และแสวงหาความรู้เพื่อพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องในอนาคต

ขอเสนอแนะ
ในการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานจะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่คาดไว้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งระดับชาติ ชุมชน ครอบครัว และบุคคลต้องร่วมรับผิดชอบ และต้องคำนึงถึงองค์ประกอบต่าง ๆ อย่างเช่น ผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนและความต้องการของสังคมและชุมชน ทั้งนี้ทั้งนั้นเราต้องดูว่านโยบายในส่วนกลางนั้นเป็นอย่างไร องค์ประกอบแรกที่สำคัญคือ การดำเนินงานของหลักสูตร ซึ่งต้องกำหนดจุดมุ่งหมายของหลักสูตร ส่วนที่สองคือ การจัดเนื้อหาและประสบการณ์ ซึ่งต้องให้สอดคล้องกับชุมชนและความต้องการของชุมชนด้วย และในส่วนของการนำหลักสูตรไปใช้และการประเมินผลหลักสูตรนั้นต้องหาข้อสรุป และแก้ไขข้อที่เป็นปัญหาหรืออุปสรรค ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เพื่อพัฒนาเยาวชนของชาติให้สามารถพัฒนาทั้งตนเองและสังคมต่อไป