สรุปหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551
การพัฒนาหลักสูตรการศึกษาของชาติ ถือเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา เพื่อสร้างคนให้เป็นคนดี มีปัญญา มีความสุข และมีศักยภาพพร้อมที่จะแข่งขันในเวทีโลก ไม่ว่าจะหลักสูตรใดก็ตาม หากนำไปใช้แล้วพบว่ามีข้อจำกัดบางประการก็จำเป็นต้องมีการปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลงหลักสูตรที่มีอยู่ให้ดีขึ้น เช่นเดียวกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 หลังการนำไปใช้ระยะหนึ่ง จากการศึกษาวิจัยพบว่า มีปัญหาบางประการ เช่น ด้านตัวชี้วัดหรือคุณลักษณะความรู้ความสามารถของผู้เรียนภายหลังจากเรียนจบแต่ละช่วงชั้นแล้วยังขาดความชัดเจน อีกทั้งครูผู้สอนโดยเฉพาะครูในโรงเรียนขนาดเล็กซึ่งมีอยู่จำนวนมากไม่สามารถออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่สามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณสมบัติตามที่หลักสูตรกำหนดไว้ได้
หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 จัดทําขึ้นเพื่อให้เขตพื้นที่การศึกษา หน่วยงานระดับท้องถิ่นและสถานศึกษานําไปเป็นกรอบและทิศทางพัฒนาหลักสูตรและจัดการเรียนการสอน จากข้อค้นพบในการศึกษาวิจัยและติดตามผล การใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ที่กล่าวถึง ประกอบกับข้อมูลจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาคนในสังคมไทย และจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการในการพัฒนาเยาวชนสู่ศตวรรษที่ 1 จึงเกิดการทบทวนหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 เพื่อนำไปสู่การพัฒนาหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ที่มีความเหมาะสม ชัดเจน ทั้งเป้าหมายของหลักสูตรในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมพัฒนาประเทศพื้นฐานในการดำรงชีวิต การพัฒนาสมรรถนะและทักและกระบวนการนำหลักสูตรไปสู่การปฏิบัติในระดับเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา โดยได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์ จุดหมาย สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน คุณลักษณะอันพึงประสงค์ มาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดที่ชัดเจน เพื่อใช้เป็นทิศทางในการจัดทำหลักสูตร การเรียนการสอนในแต่ละระดับ นอกจากนั้นได้กำหนดโครงสร้างเวลาเรียนขั้นต่ำของแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ในแต่ละชั้นปีไว้ในหลักสูตรแกนกลาง และเปิดโอกาสให้สถานศึกษาเพิ่มเติมเวลาเรียนได้ตามความพร้อมและจุดเน้น อีกทั้งได้ปรับกระบวนการวัดและประเมินผลผู้เรียน เกณฑ์การจบการศึกษาแต่ละระดับ และเอกสารแสดงหลักฐานทางการศึกษาให้มีความสอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ และมีความชัดเจนต่อการนำไปปฏิบัติดังนั้นสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงได้ปรับเปลี่ยนหลักสูตรเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการนำไปสู่การปฏิบัติแต่ยังคงยึดมาตรฐานการเรียนรู้และหลักการเดิม
หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 เปลี่ยนแปลงมาจากหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544 ซึ่งกําหนดจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้เป็นคนดี มีปัญญา มีคุณภาพชีวิตดี มีความสามารถแข่งขันในเวทีโลก ให้สถานศึกษามีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตร โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
1. เพิ่มวิสัยทัศน์ หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ใช้อยู่ในปัจจุบันและปรับจุดมุ่งหมายหลักสูตรให้ชัดเจนขึ้น ซึ่งแต่เดิมกำหนดให้สถานศึกษาจัดทำวิสัยทัศน์ของหลักสูตรในระดับสถานศึกษา แต่ขาดการกำหนดวิสัยทัศน์ในระดับชาติ ทำให้เป้าหมายทิศทางของการจัดการศึกษาขาดความเป็นเอกภาพ ในการปรับปรุงจึงมีการกำหนดวิสัยทัศน์หลักสูตรในระดับชาติขึ้นเพื่อให้เป็นเป้าหมายที่ชัดเจนตรงกันในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาเยาชนของชาติ ดังนี้
"หลักสูตรแกกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน มุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกคน ซึ่งเป็นกำลังของชาติให้เป็นมนุษย์ที่มีความสมดุลทั้งด้านร่างกาย ความรู้ คุณธรรม มีจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองไทยและเป็นพลโลก ยึดมั่นในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความรู้และทักษะพื้นฐาน รวมทั้ง เจตคติ ที่จำเป็นต่อการศึกษาต่อ การประกอบอาชีพและการศึกษาตลอดชีวิต โดยมุ่งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญบนพื้นฐานความเชื่อว่า ทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้เต็มตามศักยภาพ"
โดยมีจุดมุ่งหมายพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีปัญญา มีความสุข มีศักยภาพในการศึกษาต่อ และประกอบอาชีพ จึงกำหนดเป็นจุดหมายเมื่อจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือ การมีคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์ เห็นคุณค่าของตนเอง มีวินัยและปฏิบัติตนตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา หรือศาสนาที่ตนนับถือ ยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การมีความรู้ ความสามารถในการสื่อสาร การคิด การแก้ปัญหา การใช้เทคโนโลยี และมีทักษะชีวิต การมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี มีสุขนิสัย และรักการออกกำลังกาย การมีความรักชาติ มีจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองไทยและพลโลก ยึดมั่นในวิถีชีวิตและการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย การอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม มีจิตสาธารณะที่มุ่งทำประโยชน์และสร้างสิ่งที่ดีงามในสังคม และอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข
2. หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานเดิมไม่มีการกล่าวถึงสมรรถนะ หลักสูตรใหม่ เพิ่มสมรรถนะสำคัญในการพัฒนาผู้เรียน มุ่งเน้นให้มีคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนด ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะสำคัญและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ 5 ด้าน คือ ความสามารถในการสื่อสาร การคิดการแก้ปัญหา การใช้ทักษะชีวิต และการใช้เทคโนโลยี โดยครูผู้สอนต้องปลูกฝังและพัฒนาให้เกิดกับผู้เรียนทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้
3. ปรับคุณลักษณะอันพึงประสงค์ หลักสูตรเดิมไม่มีการกล่าวถึง หลักสูตรใหม่มุ่งให้ผู้เรียนสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข ลักษณะอันพึงประสงค์ประกอบด้วย รักชาติ ศาสนา กษัตริย์, ซื่อสัตย์ สุจริต,มีวินัย, ใฝ่เรียนรู้, อยู่อย่างพอเพียง, มุ่งในการทํางาน, รักความเป็นไทย, มีจิตสาธารณะสถานศึกษาสามารถกําหนดลักษณะอันพึงประสงค์เพิ่มเติมได้โดยมุ่งพัฒนาให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุขในฐานะเป็นพลเมืองไทยและพลโลก คือ รักชาติศาสน์กษัตริย์ ซื่อสัตย์สุจริต มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ อยู่อย่างพอเพียง รักความเป็นไทย และมีจิตสาธารณะ
4. ปรับตัวชี้วัดช่วงชั้น เป็นตัวชี้วัดชั้นปี ระบุสิ่งที่ผู้เรียนพึงรู้ ปฏิบัติได้ รวมทั้งลักษณะของผู้เรียนใน แต่ละระดับชั้นตัวชี้วัดนําไปใช้ในการกําหนดเนื้อหา จัดทําหน่วยการเรียนรู้การจัดการสอนเป็นเกณฑ์สําคัญสําหรับวัดผลเพื่อตรวจสอบคุณภาพผู้เรียน ตัวชี้วัดมี 2 อย่างคือ ตัวชี้วัดชั้นปีและตัวชี้วัดช่วงชั้น ตัวชี้วัดชั้นปีใช้กับ ป.1 -ม.3 ตัวชี้วัดช่วงชั้นใช้กับ ม.4- ม.6
โดยการกำหนดตัวชี้วัดชั้นปีสำหรับการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งช่วยให้เกิดความเป็นเอกภาพ และมีความชัดเจนในการจัดการเรียนรู้และการประเมินผลในแต่ละระดับชั้น รวมทั้งช่วยแก้ปัญหาการเทียบโอนระหว่างสถานศึกษา เพราะเดิมมีการกำหนดมาตรฐานช่วงชั้นกว้าง ๆ แล้วให้โรงเรียนกำหนดผลการเรียนรู้ที่คาดหวังแต่ละปีเอง ทำให้เกิดความซ้ำซ้อนและมีความแตกต่างระหว่างหลักสูตรของสถานศึกษาแต่ละแห่งเป็นอย่างมาก
5. การกำหนดกลุ่มสาระการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เกิดความสมดุล โดยคำนึงถึงหลักพัฒนาการทางสมองและพหุปัญญา หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงกำหนดหลักสูตรใหม่มี 8 กลุ่มสาระ และ 67 มาตรฐาน
6. กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนมุ่งให้ผู้เรียนพัฒนาตนเองตามศักยภาพ เสริมให้เป็นผู้มีศีลธรรม จริยธรรม ระเบียบวินัยสร้างจิตสํานึก อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน มี 3 ลักษณะ คือ กิจกรรมแนะแนว กิจกรรมนักเรียน กิจกรรมพัฒนาสังคมและสาธารณะประโยชน์
กิจกรรมแนะแนว เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมและพัฒนาผู้เรียนกิจกรรมนักเรียน ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีวินัย เป็นผู้นําและผู้ตามที่ดี เช่น ลูกเสือ เนตรนารียุวกาชาด นักศึกษาวิชาทหาร กิจกรรมชุมนุมหรือชมรมกิจกรรมพัฒนาสังคมและสาธารณะประโยชน์ เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีจิตสาธารณะ เช่นกิจกรรมอาสาพัฒนาต่างๆ การมุ่งเน้นแต่ละระดับป.1-ป.6 เน้นทักษะพื้นฐานด้านการอ่าน การเขียน การคิดคํานวณ การคิดพื้นฐานการติดต่อสื่อสาร กระบวนการเรียนรู้ทางสังคมและพื้นฐานการเป็นมนุษย์ เน้นการเรียนรู้แบบบูรณาการ
7. เวลาเรียน ป.1-ป.6 จัดการเรียนเป็นรายปี เรียนวันละไม่เกิน 5 ชั่วโมง กําหนดให้กิจกรรมพัฒนา ผู้เรียนทั้ง 3 กิจกรรมในชั้นป. 1-ม.3 ปีละ 120 ชั่วโมง และกําหนดให้สถานศึกษาจัดสรรเวลากิจกรรมพัฒนาสังคมและสาธารณะประโยชน์ ในขั้น ป.1-ป.6 รวม 60 ชั่วโมง(ปีละ 10 ชั่วโมง)การจัดการเรียน รู้เป็นกระบวนการสําคัญนําหลักสูตรไปสู่การปฏิบัติผู้สอนต้องพยายามคัดสรรการเรียนรู้โดยช่วยให้ผู้เรียนเรียนผ่านสาระที่กําหนดไว้ในหลักสูตรประกอบด้วย
1. หลักการจัดการเรียนรู้ เน้นผู้เรียนสําคัญที่สุด โดยคํานึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล และการพัฒนาสมองเน้นให้ความรู้และคุณธรรม
2. กระบวนการเรียนรู้ ในการจัดการผู้เรียนควรได้รับการฝึกฝนพัฒนา ผู้สอนต้องทําความเข้าใจในกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ และสามารถเลือกใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. การออกแบบการจัดการเรียนรู้ผู้สอนต้องศึกษาหลักสูตรให้เข้าใจ แล้วพิจารณาออกแบบการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสม เพื่อให้ผู้เรียนพัฒนาเต็มตามศักยภาพ
8. การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตั้งอยู่บนพื้นฐาน 2 ประการคือ ประเมินเพื่อพัฒนาผู้เรียน และตัดสินผลการเรียนการประเมินตามตัวชี้วัดจะสะท้อนสมรรถนะผู้เรียน การประเมินมี 4 ระดับ คือ ชั้นเรียนสถานศึกษา เขตพื้นที่การศึกษาและชาติการประเมินในชั้นเรียนจะประเมินโดยครู ผู้เรียน เพื่อน หรือผู้ปกครองก็ได้ต้องใช้เทคนิคประสบการณ์หลากหลายและสม่ำเสมอ เช่น การซักถาม การสังเกต การตรวจการบ้านการใช้แบบทดสอบ ฯลฯ
9. เกณฑ์การวัดและการประเมินผลการเรียนผู้สอนต้องคํานึงถึงการพัฒนาผู้เรียนแต่ละคน เก็บข้อมูลสม่ำเสมอและต่อเนื่องระดับประถมศึกษาผู้เรียนต้องมีเวลาเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของเวลาเรียนทั้งหมดผู้เรียนต้องได้รับการประเมินทุกตัวชี้วัด และผ่านตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากําหนดผู้เรียน ต้องได้รับการตัดสินผลการเรียนทุกรายวิชาผู้เรียนต้องได้รับการประเมิน และมีผลการประเมินผ่านตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากําหนด ในการอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียน คุณลักษณะอันพึงประสงค์ และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนการตัดสินผลจะให้เป็นตัวเลข ตัวอักษร หรือร้อยละก็ได้
การประเมินการอ่าน คิด วิเคราะห์และเขียน และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ให้ระดับ ดีเยี่ยม ดี และ ผ่านการประเมินกิจกรรมและพัฒนาผู้เรียน ผ่านไม่ผ่านการรายงานผลการเรียน ต้องรายงานให้ผู้ปกครองทราบ เป็นระยะๆ อย่างน้อยภาคเรียนละครั้ง
บรรณานุกรม
หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551. [ ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:
http://learners.in.th /blog/art6/286286 สืบค้น 2 มีนาคม 2554
สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
http://www.curriculum51.net/upload/cur-51.pdf