ประเภท
ประเภทของหลักสูตร…ประเภทต่าง ๆ ของหลักสูตรดังต่อไปนี้
1. หลักสูตรเนื้อหาวิชา (Subject Matter Curriculum or Subject Centered Curriculum)
2. หลักสูตรหมวดวิชา (Fusion or Fused Curriculum)
3. หลักสูตรสัมพันธ์ (Correlation or Correlated Curriculum)
4. หลักสูตรสหสัมพันธ์ (Broad Fields Curriculum)
5. หลักสูตรแกนกลาง (Core Curriculum)
6. หลักสูตรประสบการณ์ (Experience Curriculum)
7. หลักสูตรบูรณาการ (Integration or Integrated Curriculum)
1. หลักสูตรเนื้อหาวิชา (Subject Matter Curriculum or Subject Centered Curriculum)
…เพื่อความเข้าใจรูปแบบของหลักสูตรเนื้อหาได้อย่างชัดเจน ดร.สุจริต เพียรชอบ เสนอลักษณะหลักสูตรของเนื้อหาวิชาดังนี้ (สุจริต เพียรชอบ. 2521: 4-5)
1. หลักสูตรเนื้อหาวิชาประกอบไปด้วยเนื้อหาสาระสำคัญ ซึ่งได้แก่ ความคิดรวบยอด ทักษะ กฎและหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งจะใช้เป็นพื้นฐานในการศึกษาเนื้อหาวิชาในแต่ละวิชาต่อไป
2. หลักสูตรแบบนี้เน้นที่เนื้อหาความรู้ ไม่ได้เน้นที่ผู้เรียน ผู้สร้างหลักสูตรจึงได้สร้างหลักสูตรโดยคำนึงถึงความรู้และสาระสำคัญเป็นหลัก
3. หลักสูตรแบบนี้จัดขึ้นตามความต้องการของผู้ใหญ่มากกว่าที่จะคำนึงถึงความต้องการและความสนใจของเด็ก ความรู้เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ความต้องการและความสนใจของเด็กไม่ใช่เรื่องสำคัญมากนัก คุณค่าของหลักสูตรที่มีต่อเด็กก็อยู่ที่การเรียนเนื้อหา ถ้าเด็กเรียนได้สอบผ่านก็ถือว่าใช้ได้ ถ้าเรียนไม่ดี เรียนซ้ำ ก็ต้องท่องซ้ำ เรียนซ้ำจนกว่าจะสอบผ่าน
4. หลักสูตรเน้นที่ผลการเรียน เด็กทุกคนต้องเรียนทุกสิ่งทุกอย่างที่เหมือน ๆ กันและจะต้องมีความรู้สอบผ่านข้อสอบอย่างเดียวกัน จากสาระเนื้อหาอย่างเดียวกันไม่มีการจัดเนื้อหาสาระที่คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล
5. หลักสูตรจะเปลี่ยนแปลงก็ต่อเมื่อเนื้อหาวิชาเปลี่ยนแปลงไป ใช่เปลี่ยนแปลงจากความต้องการหรือความผันแปรในสังคม
6. หลักสูตรประเภทนี้ไม่ถือว่าจิตวิทยาในการเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญ เนื้อหาวิ๙เป็นเครื่องกำหนดวิธีสอน การสอนจึงเน้นในด้านครูบรรยาย นักเรียนท่องจำ เน้นเรื่องการสอบใหญ่สอบย่อย นักเรียนจึงไม่ใคร่มีส่วนร่วมในการเรียน การแสดงความคิดเห็นหรือความคิดริเริ่มใด ๆ ทั้งสิ้น
7. การจัดเนื้อหาวิชาจัดเรียนตามลำดับอย่างมีระเบียบระบบ เรียงตามเรื่องหรือลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่มีความคล่องตัวในการที่จะจัดเนื้อหาให้ตรงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน
2. หลักสูตรหมวดวิชา (Fusion or Fused Curriculum)
หลักสูตรเนื้อหาวิชาของไทยเมื่อปี พ.ศ. 2493 นั้นแยกออกเป็นรายวิชาย่อย ๆ เช่น วิชาภาษาไทย จะประกอบด้วยรายวิชาย่อย ๆ ได้แก่ คัดไทย เขียนไทย ย่อไทย เรียงความ เขียนจดหมาย อ่านเอาเรื่อง ไวยากรณ์ สายวิชาอื่น ๆ ก็แยกออกเป็น ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง ศีลธรรม เลขคณิต เรขาคณิต ฯลฯ เนื่องจากรูปแบบของหลักสูตรมีลักษณะดังกล่าว การประเมินผลของการศึกษาหรือการเรียนรู้ของนักเรียนก็คือ การวัดความสำเร็จด้วยคะแนนความจดจำเนื้อหาวิชาแต่ละวิชา ใครมีความสามารถจดจำแล้วถ่ายทอดออกมาได้มาก ก็ถือว่ามีความสามรถมาก ถ้าใครจดจำและถ่ายทอดออกมาได้น้อย ก็ถือว่าไม่มีความสามารถหรือไม่เก่ง จากจุดอ่อนดังกล่าว หลักสูตรเนื้อหาวิชาจึงได้รับการพัฒนาเป็นหลักสูตรหมวดวิชา โดยการรวมวิชาย่อย ๆ ที่มีลักษณะใกล้เคียงกันผสมผสานในด้านเนื้อหาเข้าเป็นหมวดหมู่ เพื่อให้เกิดการผสมกลมกลืนของเนื้อหาและสะดวกต่อการจัดการเรียนการสอน ตลอดทั้งการประเมินผลด้วย ดังปรากฏในหลักสูตรการศึกษาของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2503 และบางส่วนของหลักสูตรมัธยมศึกษาปี พ.ศ. 2521 ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวเป็นหมวดวิชาต่าง ๆ เช่น หมวดวิชาภาษาไทย หมวดวิชาสังคม หมวดวิชาคณิตศาสตร์ หมวดวิชาวิทยาศาสตร์ หมวดวิชาพลานามัย หมวดวิชาศิลปศึกษา เป็นต้น
3. หลักสูตรสัมพันธ์ (Correlation or Correlated Curriculum)
หลักสูตรสัมพันธ์คือ หลักสูตรที่มีความสัมพันธ์กันในหมวดวิชาหรือระหว่างวิชา แนวคิดของหลักสูตรสัมพันธ์นี้ เป็นแนวคิดที่จะพยายามขจัดปัญหาอันเกิดขึ้นในหลักสูตรหมวดวิชา เนื่องจากหลักสูตรหมวดวิชานั้นมีของเขตของเนื้อหาอย่างกว้างขวาง ทำให้เกิดการซ้ำซ้อนในด้านเนื้อหาประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งการกำหนดครูให้อยู่แต่ละหมวดวิชา ทำให้ขาดความสัมพันธ์ในเนื้อหาที่ต่างหมวดวิชากัน
หลักสูตรสัมพันธ์พยายามกำหนดเนื้อหาวิชาในวิชาใดวิชาหนึ่งหรือหมวดใดหมวดหนึ่งตามเนื้อหาสาระและโครงสร้างของวิชานั้น ๆ แล้วนำเนื้อหาสาระวิชาอื่น ๆ ที่สัมพันธ์กันมารวมเข้าไว้ด้วยกัน ดร.สุจริต เพียรชอบ ได้กล่าวถึงวิธีการที่จะทำให้หมวดวิชาและแต่ละวิชาสัมพันธ์มี 4 วิธี คือ (สุจริต เพียรชอบ. 2521: 9-11)
1. การจัดให้มีการสัมพันธ์ระหว่างวิชาในระดับที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนมากนัก เช่น ครูสอนวรรณคดี ก็อาจให้นักเรียนวาดภาพประกอบเป็นการแสดงออกซึ่งจินตนาการของนักเรียน นักเรียนอาจร่วมกันร้องเพลง เล่นละครหรืออาจแสดงบทบาทสมมติ กระบวนการเรียนการสอนเช่นนี้ คือการสอนวิชาภาษาไทยให้สัมพันธ์กับวิชาศิลปศึกษา หรืออาจสัมพันธ์กับวิชาประวัติศาสตร์
2. หมวดวิชาสังคมศึกษาและหมวดวิชาวิทยาศาสตร์ มีเนื้อหาบางอย่างซ้ำซ้อนหรือใกล้เคียงกัน เช่น ในเรื่องของสุริยจักรวาล ครูทั้งสองหมวดช่วยกันคิดและวางแผนกิจกรรมการเรียนการสอนร่วมกัน ก็จะทำให้วิชาภูมิศาสตร์และวิชาวิทยาศาสตร์ในเรื่องของวิชาฟิสิกส์มีความสัมพันธ์กันมากขึ้นและในความรู้สึกของผู้เรียนก็จะรู้สึกสนุกสนานและจะเรียนเพียงครั้งเดียวก็จะครอบคลุมเนื้อหาทั้งสองวิชา
3. ถ้าปัญหาเกิดขึ้นเหมือนกรณีที่สอง ครูทั้งสองหมวดวิชาอาจวางแผนกิจกรรมการเรียนดารสอนร่วมกัน ดำเนินการสอนร่วมกัน และใช้เวลาการสอนเป็นช่วงระยะยาวเป็นช่วงระยะยาวเป็นหลาย ๆ คาบติดต่อกัน
4. การกำหนดหัวข้อเรื่องหรือปัญหาต่าง ๆ มักจะต้องอาศัยความเกี่ยวพันของหมวดวิชาหรือวิชาหลาย ๆ สาขาพิจารณาร่วมกัน กิจกรรมการเรียนการสอนก็จำเป็นต้องอาศัยวิธีการหลาย ๆ อย่าง เช่น ในเรื่องปัญหาที่เกี่ยวกับสภาวะแวดล้อม ปัญหาการวางแผนครอบครัวต้องอาศัยเนื้อหาทั้งทางวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และภาษาศาสตร์ เป็นต้น
4. หลักสูตรสหสัมพันธ์ (Broad Fields Curriculum)
…ดร.สุมิตร คุณากร ได้ชี้ให้เห็นว่าบรรดาหลักสูตรที่พัฒนามาจากหลักสูตรเนื้อหาวิชา (ซึ่งมีหลักสูตรหมวดวิชาหลักสูตรสัมพันธ์และหลักสูตรสหสัมพันธ์) หลักสูตรสหสัมพันธ์ยังคงใช้กันอยู่ เพราะมีการผสมผสานของความรู้มากกว่า (สุมิตร คุณากร. 2518: 120-121) นอกจากนี้แล้วการจัดหมวดวิชาเป็นสหสัมพันธ์หรือหมวดวิชาแบบกว้างนี้ก็มักจะทำกันในโรงเรียนระดับประถมและระดับมัธยมต้นมากกว่าระดับมัธยมปลาย ดร.สุจริต เพียรชอบ (สุจริต เพียรชอบ. 2521: 12-13) ได้ยกตัวอย่างหลักสูตรสหสัมพันธ์ที่นิยมใช้ในโรงเรียนประถมและมัธยมต้นในรัฐเท็กซัสนั้นแบ่งเป็นหมวดวิชาใหญ่ ๆ 5 หมวดวิชา ดังนี้
1. หมวดวิชาภาษา ประกอบด้วย วรรณคดี การอ่าน การแสดงออกแบบสร้างสรรค์ การสื่อสาร การใช้ภาษา หลักภาษา การวิเคราะห์ภาษา การสะกดคำ เป็นต้น
2. หมวดวิชาสังคมสัมพันธ์ ประกอบด้วย การผลิ การจำหน่าย การอุปโภคบริโภค การคมนาคม การปกครอง การศึกษา ความประพฤติ สังคมวิทยา ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เป็นต้น
3. หมวดวิชาคหกรรมและอาชีพ ประกอบด้วย กิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งเป็นการเตรียมอาชีพ การเรือน การแนะแนวอาชีพต่าง ๆ
4. หมวดวิชาศิลปะสร้างสรรค์และนันทนาการ ประกอบด้วย วิชาสุขศึกษา ลักษณะนิสัย การแสดงออก การพัฒนาการทางร่างกาย ดนตรี ศิลปะ นันทนาการ วาดเขียน สรีรวิทยา เป็นต้น
5. หมวดวิชาธรรมชาติ คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วย วิทยาศาสตร์เบื้องต้น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ทั่วไป วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์และประยุกต์ เลขคณิต ชีววิทยาและฟิสิกส์
5. หลักสูตรแกนกลาง (Core Curriculum)
หลักสูตรแกนกลางมีลักษณะคล้ายกับหลักสูตรหมวดวิชา หลักสูตรสัมพันธ์และหลักสูตรสหสัมพันธ์ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ผสมผสานเนื้อหาวิชาต่าง ๆ ที่ใกล้เคียงเข้าอยู่เป็นหมวดหมู่เดียวกัน แต่เน้นวิธีการแก้ปัญหา ซึ่งจัเป็นปัญหาของส่วนบุคคลหรือส่วนรวมก็ได้ เมื่อกระบวนการเรียนการสอนเน้นการแก้ปัญหาเป็นหลักดังกล่าวแล้ว เวลาเรียนแทนที่จะใช้คาบละ 50 หรือ 55 นาที ก็ต้องใช้เวลาเป็น 2 หรือ 3 ชั่วโมง ติดต่อกัน นอกจากกระบวนการแก้ปัญหาและเวลาเรียนแล้ว บทบาทของครูก็จะเปลี่ยนไปเป็นผู้คอยให้คำแนะนำ เป็นที่ปรึกษาทั้งเป็นรายบุคคลหรือรายหมู่ นักเรียนจะมีประสบการณ์ในการแก้ปัญหาโดยตรง หลักสูตรแกนกลางนี้ปรากฏในช่วงปีการศึกษา 2508-2513 ซึ่งเป็นช่วงที่กรมวิชาการพยายามปรับปรุงหลักสูตรปี 2503 ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ซึ่งในวงการศึกษาของไทยเราจะรู้จักหลักสูตรแกนกลางในนามของ “การเรียนการสอนแบบหน่วย” เช่น การรวมวิชาภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์และวรรณคดีไทยเข้าด้วยกัน แล้วตั้งหัวข้อขึ้นมาพิจารณาเหตุการณ์ต่าง ๆ ในสมัยสุโขทัย กรุงศรีอยุธยาต้อนต้นและตอนปลาย นักเรียนก็จะเรียนภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และวรรณกรรมแต่ละสมัยควบคู่กันไป และในบางครั้งอาจครอบคลุมไปถึงระบบเศรษฐกิจและการปกครองอีกด้วย
6. หลักสูตรประสบการณ์ (Experience Curriculum)
หลักสูตรประสบการณ์ได้รับการพัฒนาขึ้นมาก็เนื่องจากนักศึกษามีความเชื่อว่า นักเรียนควรเป็นจุดศูนย์กลางของการเรียนการสอน การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนหรือประสบการณ์ใด ๆ ก็ตาม ต้องจัดขึ้นเพื่อสนองความต้องการของผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนเจริญงอกงามในทุก ๆ ด้านและสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของการดำรงชีวิต หลักสูตรประสบการณ์จำเป็นต้องให้ผู้เรียนมีบทบาทและส่วนร่วมในการเลือกหากิจกรรมการเรียนที่มีประโยชน์และตรงกับจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ในหลักสูตรและลักษณะการร่วมกิจกรรมนั้นต้องอยู่บนรากฐานของความถนัดและความสนใจของนักเรียน หลักสูตรประสบการณ์มีลักษณะตรงข้ามกับหลักสูตรเนื้อหาวิชาอย่างเห็นได้ชัด เพราะหลักสูตรเนื้อหาวิชายึดเนื้อหาวิชาเป็นจุดศูนย์กลาง แต่หลักสูตรประสบการณ์ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ การเรียนการสอนตามหลักสูตรนี้ ครูต้องเป็นทั้งนักวางแผน นักจิตวิทยา นักแนะแนวและนักพัฒนาการ
หลักสูตรประสบการณ์นี้มีความหมายเช่นเดียวกับ “หลักสูตรเด็กเป็นศูนย์กลางของดิวอี้” (The Dewey Child Centered Curriculum) “หลักสูตรชีวิต” (The Persistent Life Situations Curriculum) ซึ่งยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง โดยการเลือกและจัดประสบการณ์ให้แก่ผู้เรียนตามปัญหาและประสบการณ์ที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน
7. หลักสูตรบูรณาการ (Integration or Integrated Curriculum)
หลักสูตรต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วเมื่อตอนต้น ๆ นั้น ล้วนแต่เป็นหลักสูตรที่ยึดเนื้อหาวิชาเป็นหลักหรือไม่ก็พยายามปรับปรุงเนื้อหาวิชาเข้าเป็นหมวดหมู่ ทั้งแคบและกว้าง จะมีหลักสูตรประสบการณ์เท่านั้นที่ยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ส่วนหลักสูตรบูรณาการหรือหลักสูตรสหวิทยาการนั้น มีลักษณะแตกต่างกว่าหลักสูตรดังกล่าวมาก เพราะว่าหลักสูตรบูรณาการเป็นหลักสูตรที่รวมประสบการณ์เรียนรู้ต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน ประสบการณ์ดังกล่าวเป็นประสบการณ์ที่คัดเลือกมาจากหลายสาขาวิชา แล้วจัดเป็นกลุ่มหรือหมวดหมู่ของประสบการณ์ เป็นการบูรณาการเนื้อหาเข้าด้วยกัน เพื่อช่วยให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์สัมพันธ์และต่อเนื่อง มีคุณค่าต่อการดำรงชีวิต
หลักสูตรประถมศึกษาปี 2521 เป็นหลักสูตรที่ยึดเอา “ผู้เรียนเป็นหลัก” แล้วเอาวิชาหรือเรื่องราวต่าง ๆ ที่เรียกว่า “มวลประสบการณ์” มาจัดกลุ่มเพื่อสร้างเสริมตัวผู้เรียนให้เจริญงอกงาม 4 กลุ่ม คือ
1.กลุ่มทักษะที่เป็นเครื่องมือการเรียนรู้ คือ เรื่องราวหรือวิชาที่เป็นเสมือนเครื่องมือหรืออุปกรณ์เพื่อการศึกษาหาความรู้ประกอบด้วย
1.ภาษาไทย มีเรื่องการฟัง การพูด การอ่านและการเขียน
2.คณิตศาสตร์ มีเรื่องอันเป็นความรู้พื้นฐานทางจำนวน ทางพีชคณิต ทางการวัด ทางเรขาคณิตและทางสถิติ
2. กลุ่มสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต กลุ่มสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตว่าด้วยกระบวนการแก้ปัญหาของชีวิตและสังคม กล่าวถึงปัญหาและความต้องการของมนุษย์ในด้านต่าง ๆ เพื่อการดำรงอยู่และการดำเนินชีวิตที่ดี ประสบการณ์ที่จัดในกลุ่มนี้ เกี่ยวกับปัญหาและความต้องการของคนไทย ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ทางด้านอนามัย ประชากร การเมือง การปกครอง สังคม ศาสนา วัฒนธรรม เศรษฐกิจ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ การติดต่อสื่อสาร ฯลฯ
3. กลุ่มสร้างเสริมลักษณะนิสัย คือ เรื่องหรือวิชาที่ทำให้คนเป็นคนดี มีลักษณะนิสัยดี มีน้ำใจดี และมีความประพฤติและบุคลิกอันดี ประกอบด้วยเรื่องต่อไปนี้
1. จริยศึกษา ได้แก่ คุณธรรมต่าง ๆ
2. ศิลปศึกษา มีเรื่องการวาดภาพ ระบายสี การปั้น แกะสลัก การพิมพ์ การออกแบบและงานสาน
3. ดนตรีและนาฏศิลป์ มีกิจกรรมเน้นจังหวะ กิจกรรมเน้นการร้องเพลง กิจกรรมเน้นการฟัง และกิจกรรมเน้นท่าทาง
4. พลศึกษา มีการเคลื่อนไหวขั้นพื้นฐาน การเล่นสมมติ เกม เบ็ดเตล็ด กิจกรรมเข้าจังหวะ การเล่นแบบผลัด การเล่นแบบโลดโผน ยิมนาสติก กีฬา กรีฑาและกิจกรรมทดสอบสมรรถภาพทางการ
5. กิจกรรมสร้างนิสัย มีกิจกรรมพัฒนาทางกายและใจ การพัฒนาทางสังคม การพัฒนาทางจริยธรรมและประเพณี และความสนใจเกี่ยวกับสถานที่และอาชีพ
4. กลุ่มการงานและพื้นฐานอาชีพ คือ เรื่องราวหรือวิชาที่ทำให้คนทำงานเป็น เห็นประโยชน์ของการทำงาน รักการทำงาน ประกอบด้วย
1. งานบ้าน คือ การจัดและดูแลบ้าน การครัว การดูแลเด็ก การต้อนรับแขก งานเสื้อผ้า งานซักรีดและการช่วยงานผู้ใหญ่
2. งานประดิษฐ์งานช่าง ได้แก่ งานฝีมือและงานช่างเบื้องต้น เช่น เย็บปักถักร้อย งานไม้ งานปูน ฯลฯ
3.งานเกษตร ได้แก่ การเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์เบื้องต้น
4. งานเลือก ได้แก่งานตามข้อ 1,2,3 สำหรับชั้นป. 5-6 ให้เลือกเรียนลึกซึ้งลงไป เช่น อาหารและโภชนาการ การเลี้ยงสัตว์ปีก งานไม้ งานไม้ดอกใบตอง ฯลฯ ซึ่งโรงเรียนสามารถเลือกเรียนได้ตามสภาพและความต้องการของท้องถิ่น
วิชัย ดิสสระ. (2535). การพัฒนาหลักสูตรและการสอน. กรุงเทพฯ: สุวีริยาสาส์น
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)